ปวดหลัง…ขับรถจะปรับอย่างไรดี

Back pain1

สวัสดีครับ ตอนนี้ก็ใกล้ช่วงปีใหม่แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงได้เดินทางไปต่างจังหวัดซึ่งหลายๆคนอาจต้องขับรถเอง วันนี้เราจึงนำบทความ ”ปวดหลัง…ขับรถจะปรับอย่างไรดี” โดย อ.ดร.คีรินท์ เมฆโหรา มาฝากครับ

มีผู้ป่วยหลายคนบ่นถึงอาการของตนเองว่า ถ้าขับรถแล้วจะมีอาการปวดหลังมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องขับรถเป็นเวลานานๆ  ดังนั้นหากต้องขับรถ ผู้ป่วยหลายๆ คนจะกลัว และมีความรู้สึกไม่อยากขับเอาเสียเลย แต่ยังมีผู้ป่วยอีกหลายคนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้ป่วยแต่จำเป็นต้องขับรถทางไกล แล้วจะทำอย่างไรดี

ข้อคำถามเหล่านี้ผู้เขียนได้ตอบให้กับผู้ป่วยบ่อยมาก ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าการขับรถเป็นเรื่องที่สำคัญ มีผลต่อร่างกายและอาการปวดหลัง จึงต้องมาเขียนเล่าเรื่องแทรกเข้ามาในฉบับนี้ หลังจากที่หลายๆ ฉบับที่ผ่านมาผู้เขียน เขียนเรื่องโรคกับการทำงานติดต่อกัน

ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนกับอาการปวดหลังเมื่อขับรถ
ผู้เขียนเคยมีอาการปวดหลัง ที่เป็นเนื่องจากการเรียนในหลักสูตรที่ต้องดัด ดึง ข้อต่อ  เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่เรียนนั้นเป็นช่วงที่มีการ “หักหลัง” ฟังดูแล้วน่ากลัว ใช้คำว่า “ก๊อกหลัง” ดีกว่า คือการบิดตัวเพื่อให้มีเสียงดัง ก๊อกŽ ในข้อที่เราต้องการ เหมือนอย่างหมอนวดไทย หรือแพทย์ทางเวชศาสตร์โครงสร้างทำกันบ่อยๆ
หลังจากการฝึกหนักทำให้หลังระบม และไปเล่นแบดมินตันต่อ ขณะที่เล่นนั้นมีอยู่จังหวะหนึ่งที่ต้องกระโดดแล้วบิดตัวเพื่อตีลูกอย่างแรง (เป็นท่าที่หลังไม่ชอบเอามากๆ เลย) ทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นมาทันที

ผู้เขียนเจ็บอยู่ประมาณ ๒ สัปดาห์ ทำให้ทราบว่าอาการปวดหลังเป็นอาการที่ทรมานมาก เพราะเดินไม่ได้ ใส่เสื้อผ้ายังต้องนอนใส่ หากขับรถแม้ระยะทางสั้นๆ จะมีอาการปวดมาก โดยเฉพาะขณะที่ออกจากรถ ต้องใช้วิธีพิเศษคือนำขาออกก่อน ๑ ข้าง หมุนตัวโดยไม่ให้ตัวบิดและก้ม นั่นคือต้องใช้มือซ้ายเอื้อมมาทางขวา และใช้มือทั้งสองข้างเท้าที่เบาะ และผลคือต้องลงไปคุกเข่า แล้วค่อยๆ เอามือไต่รถขึ้นมายืน

จากประสบการณ์นั้นและความรู้ที่ได้เรียนมาทำให้ได้ข้อคิดและวิธีปฏิบัติไม่มากก็น้อยที่เป็นประโยชน์ กับผู้ที่ขับรถและผู้ป่วยปวดหลังหรือบริเวณอื่นๆ ที่จำเป็นต้องขับรถ

ข้อเท็จจริง ที่ต้องรู้ก่อนการปรับเบาะ
ก่อนที่จะปรับเบาะควรพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ประยุกต์ ก่อนที่จะทำการปรับ
๑. ร่างกายไม่ชอบที่จะอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หากจำเป็นต้องอยู่นานๆ ท่านั้นต้องเป็นท่าที่สบายที่สุด
๒. หลังไม่ชอบที่จะอยู่ในท่าโค้งหรือมีการบิดตัว เพราะในท่าเหล่านั้น กล้ามเนื้อและเอ็นด้านหลังจะถูกยืดนานๆ หมอนรองกระดูกสันหลังจะมีแรงกดมากกว่าในท่านั่งหลังตรงหรือท่ายืนตรง
๓. บ่าและไหล่ ไม่ชอบให้ศีรษะอยู่ในท่าก้มหรือเงยมากไป เพราะเขาจะทำงานหนักขึ้น เช่นเดียวกันกับถ้าต้องยกแขนสูงๆ โดยสังเกตได้ว่ากล้ามเนื้อบ่าและไหล่ต้องเกร็งตัวขึ้น
๔. เส้นประสาทหลังและขา ไม่ชอบอยู่ในท่าที่ตึงๆ นานๆ  ท่าที่ทำให้เส้นประสาทตึงคือท่าที่นั่งเป็นรูปตัวแอล (L) หรือยืนก้มตัวโดยให้ขาตรง
๕. ความเมื่อยล้าของสายตา และความเครียดมีผลต่ออาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

เมื่อต้องปรับเบาะ…อย่างปลอดภัย
เมื่อต้องขับรถ มีอุปกรณ์หลายอย่างที่สามารถปรับได้ เช่น กระจกมองข้าง กระจกส่องหลัง เบาะและพวงมาลัย อุปกรณ์เหล่านี้อาจไม่ต้องมีการปรับบ่อยหากรถนั้นใช้เพียงคนเดียว แต่อย่างไรก็ตามควรปรับให้เหมาะสมและตรวจดูความเหมาะสมของอุปกรณ์เหล่านี้ทุกครั้งก่อนขับรถ โดยอาศัยหลักการดังต่อไปนี้

๑. ปรับระยะนั่งใกล้ ไกล ก่อนเป็นอันดับแรก
โดยให้ขาเหยียบคันเร่งพอดีและสามารถขยับเท้ามาเหยียบเบรกได้ง่ายและรวดเร็ว และระยะห่างนี้ต้องไม่ทำให้เข่าและสะโพกงอมากนัก เพราะการงอมากข
มากของเข่าและสะโพกจะทำให้กระดกข้อเท้าได้ลำบากทำให้ต้องยกขาเมื่อต้องขยับเท้าไปมา ขณะเดียวกันการเหยียดขามากไปจะทำให้ตัวและขาอยู่ในรูปคล้ายตัวแอล  ซึ่งมีผลต่อการเหยียบเบรกและคันเร่งเช่นกัน คือแรงจะลดลง เพราะสามารถใช้ปลายเท้าเหยียบได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้แรงจากเข่าและสะโพกได้
ร่างกายที่อยู่ในรูปตัวแอล จะมีผลทำให้หลังส่วนล่างโค้งมาก และเส้นประสาทสันหลังและขาตึงตัวมาก จะมีผลเสียคือ กล้ามเนื้อล้าง่าย ด้านหน้าของหมอนรองกระดูกมีแรงกดมากทำให้หมอนรองกระดูกมีโอกาสปลิ้นไปด้านหลังสูง ท่านั่งนี้จึงทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงท่านั่งนี้ ที่เราอาจพบได้บ่อยในผู้ที่ใช้เก๋งเตี้ยๆ

๒. การปรับความเอียงของเบาะพิงหลัง
จะมีความสัมพันธ์กับการปรับใกล้ไกล  มุมการมอง และการจับพวงมาลัย คือเมื่อปรับขาให้พอดี ตัวอาจจะห่างไป ทำให้ต้องปรับเบาะพิงชันขึ้นมา แต่การปรับเบาะชันขึ้นมาอาจมีผลทำให้หลังและขาเป็นรูปคล้ายตัวแอลดังข้อ ๑ แต่ก็มีข้อดีเมื่อตัวตั้งตรงคือ ทำให้ไม่ต้องงอคอมากนัก บ่าและคอจึงไม่เมื่อย ดังนั้นความเอียงของเบาะควรอยู่ในระดับที่เมื่อขับรถแล้ว ไม่มีความรู้สึกว่าต้องใช้แรงในการยกคอและศีรษะขึ้นมาตั้งตรง

๓. ปรับการเอียงของเบาะนั่ง
มีความจำเป็นอีกเช่นกัน เพราะหากเบาะนั่งให้มีการชันตัวมาก จะมีผลทำให้เกิดการกดของด้านหน้าของเบาะต่อด้านหลังเข่าของผู้ขับขี่ ซึ่งด้านหลังเข่านี้ มีหลอดเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก หากมีการกดทับจะทำให้เกิดอาการชา และอ่อนแรงของขาได้ ดังนั้นควรปรับให้เบาะด้านหน้าสูงพอที่ระรับน้ำหนักขาได้ โดยที่ขาไม่ลอยสูงจากเบาะ (ลักษณะเข่าชัน)  และเมื่อขับรถและมีการกดคันเร่งค้างนานๆ ด้านหน้าของเบาะต้องไม่กดหลังเข่า

๔. ปรับความสูงต่ำของเบาะ
โดยเฉพาะรถใหม่ๆ มักจะสามารถปรับได้ หลายๆ คนอาจมองว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะตัวสูงอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ตัวสูงก็ต้องใช้ เพราะถ้าเบาะเตี้ยจะทำให้ต้องปรับเบาะรถห่างจากพวงมาลัยมากขึ้นส่งผลต่อการงอของหลัง การปรับเบาะรถให้สูงขึ้นจะมีผลทำให้ท่านั่งขับรถคล้ายกับการนั่งเก้าอี้มากขึ้น ดังเห็นได้จากรถตู้หรือรถ MPV ที่มักต้องนั่งขับในท่าหลังตรงๆ และแน่นอนท่านี้ศีรษะและคอก็จะอยู่ในแนวตรง ไม่จำเป็นต้องงอคอขึ้นมา และในผู้ที่ตัวไม่สูง ก็สามารถ ปรับความสูงของเบาะเพื่อให้เหยียบถนัดขึ้น

๕. ปรับมุมของพวงมาลัย จะขึ้นอยู่กับการปรับเบาะต่างๆ ด้วย
ให้ปรับทุกอย่างเสร็จแล้วค่อยมาปรับพวงมาลัย แต่ถ้าปรับพวงมาลัยสุดแล้วยังรู้สึกไม่พอดี ต้องปรับจากข้อ ๑ ถึง ๔ ใหม่อีกครั้ง ตำแหน่งและระยะการจับพวงมาลัยมีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการควบคุม พวงมาลัยของรถทำให้บังคับรถได้ง่ายหรือยากได้  ระยะและระดับที่เหมาะสมคือ ระยะที่เมื่อวางมือแล้ว สามารถหมุนพวงมาลัยได้คล่อง ไม่มีการติดขัดหรือมีความรู้สึกว่าต้องเอื้อม ขณะเดียว กัน กล้ามเนื้อบ่าและไหล่ต้องไม่เกร็งเพื่อที่จะถือแขนให้อยู่กับพวงมาลัยนานๆ

๖. การปรับระยะพวงมาลัยเข้าใกล้หรือไกล
รถรุ่นใหม่ๆ อาจสามารถปรับระยะใกล้ หรือไกลของพวงมาลัยได้ คือเราสามารถดึงพวงมาลัยเข้าใกล้หรือผลักออกไปไกลได้ การปรับนี้มีข้อดี ที่เมื่อปรับระยะใกล้ ไกล และปรับพนักพิงแล้ว อาจทำให้แขนต้องเอื้อมจับหรือแขนอยู่ชิดพวงมาลัยมากเกินไป การปรับนี้จะช่วยให้เราสามารถจับพวงมาลัยได้ถนัดขึ้น

๗. ปรับกระจกส่องข้างและหลัง
จะเป็นการปรับหลังสุด หลังจากปรับส่วนอื่นๆ เสร็จแล้ว โดยยึดหลักการที่ว่า เมื่อนั่งโดยไม่ต้องขยับศีรษะหรือโยกตัว เราสามารถมองเห็นในจุดที่เราต้องการ ได้ หากการมองยังมีจุดบอดแสดงว่าอาจต้องใช่อุปกรณ์ เสริม เช่น ติดกระจกส่องหลังบานใหญ่ขึ้น หรือกระจกโค้ง เพื่อให้เห็นได้ครอบคลุมขึ้น แต่อาจมีผลเรื่องการกะระยะบ้างเพราะภาพจากประจกโค้งจะหลอกตา

หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องอยู่ภายใต้คำว่า ความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย หากปรับให้สบายตัว แต่ไม่ปลอดภัยก็ไม่ถือว่าเป็นการปรับที่ดี ทั้งนี้ขอให้ปรับเมื่อ รถอยู่นิ่ง ไม่ควรปรับเมื่อรถวิ่งอยู่ โดยเฉพาะการเลื่อนเบาะและปรับมุมพนักพิง ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อการขับขี่ได้ และดังที่กล่าวไว้ว่าร่างกายไม่ชอบอยู่ในท่าทางที่นานๆ แม้ว่าท่านจะได้ท่านั่งที่ดีและเบาะนั่งที่เหมาะกับตัวท่านแล้ว ร่างกายยังต้องการการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ

ดังนั้น ให้หยุดพักบ่อยๆ เมื่อขับรถทางไกล ให้ลงจากรถมายืดเส้นยืดสาย ล้างหน้า จะได้หายจากความเมื่อยล้า และความเครียด หากทำได้เช่นนี้ท่านจะมีความสนุกกับการขับรถ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึก